เมื่อ “ท้องผูก” ไม่เท่ากับ “ยาระบาย” เสมอไป แพทย์เผยพฤติกรรมเสี่ยงที่คนคาดไม่ถึง ย้ำท้องผูกหายขาดได้ ถ้ารักษาตรงจุด
เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนคงต้องเคยเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินอาหารอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นโรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน อย่างกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร และรวมไปถึงอาการท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย แต่ยังมีอีกโรคหนึ่ง ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ โรคที่ว่านี้ก็คือ “โรคท้องผูก” นั่นเอง เพราะหลายครั้งอาการท้องผูกอาจนำไปสู่โรคอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายได้ และหากปล่อยให้อาการท้องผูกอยู่กับเราไปนาน ๆ จนถึงขั้น “ท้องผูกเรื้อรัง” ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องอาศัยการรักษาที่ซับซ้อนกันเลยทีเดียว
นพ. กุลเทพ รัตนโกวิท แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับ “โรคท้องผูก” (Constipation) ที่อาการเป็นได้มากกว่าการไม่ขับถ่าย โดยสามารถพบในคนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นภายใต้ปัจจัยหลากหลายที่ไม่ใช่แค่ “การไม่กินผัก” พร้อมมาช่วยไขข้อสงสัยที่ว่า ทำไม “ยาระบาย” จึงไม่ใช่ทางออกระยะยาวสำหรับโรคท้องผูก และจริง ๆ แล้ว ท้องผูกหายขาดได้
“ท้องผูก” ไม่ใช่แค่ถ่ายไม่ออก
“หลายคนยังเข้าใจผิด นึกว่าอาการท้องผูก ต้องเท่ากับถ่ายไม่ออก หรือถ่ายน้อยครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว อาการของโรคท้องผูก ยังมีอะไรมากกว่าแค่การไม่ถ่าย เช่น ถ่ายไม่สุด ทำให้ต้องเข้าห้องน้ำหลายครั้งในหนึ่งวัน ถ่ายออกยาก ต้องนั่งนานหรือเบ่งเยอะ หรือถ่ายแล้วรู้สึกเจ็บ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนเข้าข่ายโรคท้องผูกทั้งสิ้น” นพ. กุลเทพ อธิบาย “บางคนบอกว่า ต้องขับถ่ายทุกวันสิถึงจะดี แต่ที่จริงแล้ว การมีระบบขับถ่ายที่ดี หมายความว่าคุณถ่ายออกทั้งหมดได้แบบสบาย ๆ ไม่ต้องเบ่ง แม้จะถ่ายเพียงสัปดาห์ละ 5 ครั้งก็ถือว่าไม่ผิดปกติ”
ส่องสาเหตุและพฤติกรรมเสี่ยงท้องผูกที่หลายคนคาดไม่ถึง
“ท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน แน่นอนว่าการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย การกลั้นอุจจาระ หรือไลฟ์สไตล์ที่ไม่แอ็กทีฟ ขาดการออกกำลังกาย เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เราท้องผูก แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบว่า บางครั้งอาการท้องผูกอาจเกิดจากความผิดปกติของส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่ 1) การรับรู้ความรู้สึกของลำไส้ส่วนปลายผิดปกติ ซึ่งทำให้เราไม่ปวดถ่ายเมื่อถึงเวลาที่ต้องถ่าย 2) กล้ามเนื้อที่ใช้ในการขับถ่ายทำงานไม่สัมพันธ์กัน หมายถึงกล้ามเนื้อหูรูดไม่คลายเมื่อเบ่งอุจจาระ และอาจพบร่วมกับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งทำงานไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ถ่ายไม่ออก และ 3) ลำไส้ใหญ่เคลื่อนตัวช้า ทำให้อุจจาระออกมาได้ไม่หมด” นพ. กุลเทพ เล่าถึงสาเหตุที่หลากหลายของท้องผูก พร้อมย้ำว่าเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเริ่มมีการขับถ่ายที่ผิดปกติไปจากเดิม เราต้องสังเกตอาการและรีบหาสาเหตุ
ท้องผูกไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ รีบพบแพทย์ก่อนโรคอื่นถามหา
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารูปแบบการใช้ชีวิตที่เร่งรีบของคนในปัจจุบัน ทำให้บางครั้งเราต้องอั้นหรือขับถ่ายไม่เป็นเวลา จนหลาย ๆ คนเผลอมองว่าเป็นเรื่องปกติไม่น่ากังวล “เมื่อใดก็ตามที่พฤติกรรมการขับถ่ายเราเปลี่ยนไป แสดงว่าร่างกายกำลังบอกอะไรเราอยู่ บางคนมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายมานานเกิน 3 เดือนหรือที่เราเรียกว่าท้องผูกเรื้อรังแล้วเพิ่งมาพบแพทย์ ก็อาจทำให้รักษาได้ยากขึ้นได้” นพ. กุลเทพ เตือนว่าหากอาการท้องผูกไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพราะอาการท้องผูกอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ เช่น ริดสีดวง ลำไส้เป็นแผล นอกจากนี้ท้องผูกยังอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ได้เหมือนกัน เช่น มะเร็งลำไส้ ภาวะลำไส้อุดตัน ซึ่งยิ่งเจอเร็วก็ยิ่งมีโอกาสหาย “จริง ๆ แล้วแนะนำว่าหากท้องผูกติดกันหลายวันควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ยิ่งถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง หรืออุจจาระมีเลือดปน ต้องมาพบแพทย์ทันทีเพื่อรักษาให้ทันท่วงที”
ทำไม “ยาระบาย” จึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ยาระบายออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของลำไส้และทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มขึ้น ซึ่งทำให้เราขับถ่ายได้เป็นครั้ง ๆ ไปเท่านั้น ซึ่งการรักษาที่ปลายเหตุ และไม่ใช่วิธีรักษาในระยะยาว เนื่องจากท้องผูกเกินจากหลายสาเหตุซึ่งอาศัยวิธีรักษาที่แตกต่างกัน คือ 1) เกิดจากการที่ลำไส้ไม่ตอบสนองต่ออุจจาระที่ลงมา ทำให้ไม่รู้สึกปวดอุจจาระ เราก็ต้องใช้วิธีฝึกลำไส้ให้ความรู้สึกกลับมา 2) กล้ามเนื้อขับถ่ายทำงานผิดปกติ ในกรณีนี้ต้องใช้เครื่องมืออย่าง Anorectal Manometry เข้ามาช่วยวิเคราะห์การทำงานของกล้ามเนื้อโดยละเอียด ซึ่งมักช่วยรักษาอาการท้องผูกเรื้อรังให้หายขายได้เมื่อทำควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมและฝึกขับถ่ายด้วยท่าที่ถูกต้อง (Biofeedback training) และ 3) ลำไส้เคลื่อนตัวช้า จะใช้วิธีวินิจฉัยที่เรียกว่า Colonic Transit Test ผ่านการรับประทานยาแคปซูลที่มีแถบทึบแสงขนาดเล็ก (Radiopaque Makers) ที่จะบอกการเคลื่อนไหวของลำไส้ว่าสามารถจำกัดของเสียได้เร็วหรือช้าเพียงใด โดยการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้เป็นวิธีรักษาโรคท้องผูกให้หายขาดอย่างตรงจุด
“ท้องผูก” เป็นแล้วหายขาดได้ แค่ต้องแก้ให้ถูกวิธี
นพ. กุลเทพ เผยว่า “คนไข้หลายคนที่ศูนย์ฯ เป็นท้องผูกมานานหลายปี กว่าจะมาหาหมอก็ต้องรอให้อาการเรื้อรังสะสม เพราะเชื่อว่าเป็นโรคที่เป็น ๆ หาย ๆ คงไม่มีวันหายขาด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด” ปัจจุบันการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก สำหรับโรคท้องผูก ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต ใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีชั้นนำ อย่างเช่น Anorectal Manometry และ Colonic Transit Test เพื่อดูการทำงานของกล้ามเนื้อและลำไส้ได้อย่างละเอียด ช่วยให้แพทย์พบสาเหตุและวิธีรักษาได้อย่างแม่นยำ พร้อมอาศัยความชำนาญและประสบการณ์อันยาวนานในการดูแลรักษาคนไข้อย่างใส่ใจและเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาและการปรับพฤติกรรม ซึ่งทำให้คนไข้หายขาดจากท้องผูกได้ “อยากย้ำอีกครั้งว่า โรคท้องผูกอย่าปล่อยให้เรื้อรังจนเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ยิ่งหาสาเหตุได้เร็วยิ่งหายได้ไวและหายขาดด้วย” นพ. กุลเทพ กล่าวทิ้งท้าย