วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 12, 2024
BUSINESS

มะหะทุน เช่าสินเชื่อ มหาชน  เตรียมเดินหน้าขยายธุรกิจเช่าสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในลาว พร้อมเพิ่มสินค้าในพอร์ตอีกเพียบที้งรถไถ เครื่องไฟฟ้าและรถยนต์มือสอง หวังสร้างการเติบโตต่อเนื่อง

 

นายมานพ ตรีฤทธิวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัทกล่าวว่า แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากจากปัญหาการระบาดของโควิด บริษัทยังมีแผนเดินหน้าขยายการลงทุนในสปป.ลาว อย่างต่อเนื่อง  เพราะสปป.ลาวมีศักยภาพไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ แม้ประชากรทั้งประเทศจะอยู่ที่่ราว 6-7 ล้านคน แต่ทว่าความนิยมใช้รถจักรยานยนต์กลับแพร่หลาย เห็นได้จากยอดจำหน่ายรถใหม่มีตัวเลขแตะหลักแสนคันต่อปี ขณะที่พฤติกรรมลูกค้าชาวลาว มักใช้เงินดาวน์จักรยานยนต์สูงถึง 15-30% จึงแทบไม่มีหนี้เสียเนื่องจากนิสัยคนลาวไม่อยากเป็นหนี้ เมื่อมีหนี้ต้องรีบหามาใช้ ทำให้ตัวเลขหนี้เสียต่ำมาก

 

จากจำนวนประชากรทั้งหมด นครหลวงเวียงจันทน์มีประชากรอย่างเป็นทางการไม่ถึง 8 แสนคน หากรวมประชากรแฝงด้วยก็อาจจะมีถึง 1 ล้านคน ซึ่งถือว่ามีขนาดตลาดที่ใหญ่พอ และยังมีอีก 7-8 แขวงใหญ่ ๆ ที่เหมาะต่อการไปเปิดสาขาเพิ่ม พื้นที่บริการที่ตั้งเป้าหมายจะเปิดในอนาคต ได้แก่แขวงคำม่วน, แขวงบลิคำไช, แขวงจำปาสัก และแขวงหลวงพระบาง

 

นอกจากการเดินหน้าขยายสำนักงานสาขาให้ครอบคลุมความต้องการของประชากรสปป.ลาวแล้ว มะหะทุนยังมีแผนขยายพอร์ตสินเชื่อไปยังสินค้าประเภทอื่น ๆ  เครื่องมือเกษตร รถไถเดินตาม  เครื่องใช้ไฟฟ้า รีไฟแนนซ์รถยนต์มือสองเป็นการทดลองตลาดรถยนต์ และธุรกิจถัดไปคือ นาโนไฟแนนซ์

 

“บริษัท  มะหะทุน เช่าสินเชื่อ มหาชน”ตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 เพื่อประกอบการธุรกิจเช่าสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตย ถือหุ้นโดย “ชาคริต นักสอน” นักลงทุนชาวลาว และชวน มานพ ตรีฤทธิวิไล” ที่มีประสบการณ์ธุรกิจสินเชื่อที่เมืองไทยร่วมกันจัดตั้งบริษัทขึ้นมา โดยได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจเช่าสินเชื่อ จากธนาคารแห่ง สปป.ลาว

 

จากทุนจดทะเบียนตั้งต้น 10 ล้านบาท หรือ 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ ได้มีการทยอยเพิ่มทุนต่อเนื่องทุกปีจนกลายเป็น 40,000 ล้านกีบ หรือประมาณ 5 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลา 10 ปี ก้าวสู่ฐานะบริษัทมหาชน จำหน่ายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ลาวตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2561

 

ปัจจุบันพื้นที่ให้บริการหลัก “บริษัท มะหะทุน เช่าสินเชื่อ มหาชน” มีนครหลวงเวียงจันทน์เป็นสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่มีสำนักงานสาขาที่แขวงสะหวันนะเขต มีฐานลูกค้าเท่ากับ 6-8 หมื่นรายชื่อเน้นทำตลาดรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่นมือหนึ่งเกือบทั้งหมด รวมมูลค่าพอร์ตสินเชื่อประมาณ 350 ล้านบาท

 

ธุรกิจของมะหะทุน เช่าสินเชื่อฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ สินเชื่อรถใหม่ สบายใจทุกเงื่อนไข สโลแกน สินเชื่อรถใหม่ ยิ้ม ยิ้ม ทุกเงื่อนไข สินเชื่อรถมือสอง คุ้ม คุ้มทุกการออกรถ และสินเชื่อรถเปลี่ยนเงิน ง่าย ไว ใส่ใจทุกบริการ

 

สำหรับตลาดเช่าสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในสปป.ลาว ย้อนหลังไปปี 2014 มีมูลค่า 148,943 คัน ปี 2015  ลดเหลือ 136,189 คัน ปี 2016 ขยับเป็น 147,730 คัน ปี 2017 ลดเหลือ 110,458 คัน ปี 2018 ขยับเป็น 109,075 คัน ปี 2019 ลดเหลือ 99,510 คัน และ 85,209 คันในปี 2020 ซึ่งดูเหมือนตลาดจะหดตัวลง แต่แท้ที่จริง เป็นการปรับส่วนแบ่งตลาดระหว่างรถจากญี่ปุ่น กับรถจากจีน โดยรถจากญี่ปุ่นมีส่วยแบ่งตลาดเพิ่มจาก 40 % ในปี 2014 เป็นกว่า 90 % ในปี 2020 โดยมีแบรนด์ฮอนด้าครองแชมป์ด้วยส่วนแบ่ง 85% จากตลาดรวม  ทั้งนี้ มะหะทุน เช่าสินเชื่อฯ จะให้สินเชื่อเฉพาะรถจากญี่ปุ่น จึงถือว่าตลาดรถจักรนี้ ยังเติบโตต่อเนื่อง

 

ขณะที่สัดส่วนธุรกิจเช่าซื้อมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันแชร์ลิสซิ่งอยู่ที่ 50% กล่าวคือ ในการจำหน่ายรถจักรยานยนต์จำนวน 100 คัน แบ่งเป็นจ่ายเงินสด 50 คัน อีก 50 คันเป็นไฟแนนซ์ ยอดที่มะหะทุนจัดได้เฉลี่ยราว 25% รถที่จัดไฟแนนซ์ทุก 4 คันของมะหะทุน 1 คัน

 

หากเปรียบเทียบธุรกิจสินเชื่อลาวกับไทย นายมานพ กล่าวว่า ในไทยมากกว่า 85% เป็นธุรกิจสินเชื่อ ขณะที่ ลาว 45-50% เป็นธุรกิจเช่าซื้อ นอกจากนี้ สปป.ลาวยังกำหนดดาวน์ขั้นต่ำ 10% และต้องมีคนค้ำประกัน   ทำให้ตลาดเติบโต มีการปิดบัญชีก่อนกำหนดค่อนข้างมาก

 

อย่างไรก็ตาม สปป.ลาวมีการล็อคดาวน์ประเทศหลายรอบ ซึ่งห้ามประชาชนออกนอกบ้าน ยกเว้นกรณีที่จำเป็นเท่านั้น ส่งผลการปล่อยสินเชื่อ จากที่เคยทำได้  500 คันต่อเดือน เหลือเพียง 50 คันเท่านั้น ทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์และประยุกต์ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ ในสื่อออนไลน์ ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง ด้วยการเปิดแอฟพลิเคชั่นในชื่อ เอ็มฮัก โดยให้ร้านค้าพันธมิตรนำเสนอรายการโปรโมชั่นต่าง ๆ  ให้ลูกค้าเลือกซื้อ โดยบริษัทพร้อมให้บริการสินเชื่อ

 

ส่วนแผนในการขยายงานไปยังประเทศอื่น ๆ นั้น มานพกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีแผน เพราะตลาดลาวยังมีโอกาสอีกเยอะมากในการขยายสาขา และเมื่อสถานการณ์พร้อมมากว่านี้มีความเป็นไปได้ที่จะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในละแวกเดียวกัน

 

“สปป.ลาวเป็นประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูง ก่อนโควิดจีดีพีประเทศโตถึง 6% ขณะที่ปริมาณลูกค้าของบริษัทที่มีราว 40,000 บัญชี หนี้เสียมีไม่ถึง 300 บัญชี ซึ่งถือว่าต่ำมาก ดังนั้น ตลาดยังมีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะตลาดรวมสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ซึ่งเราครองส่วนแบ่งการตลาดราว 25% และเป็นเบอร์ 1 ในเมืองสะหวันนะเขต และ นครเวียงจันทร์,” นายมานพกล่าว

 

สำหรับผลประกอบการในปี 2020 บริษัทมีรายได้ 7,744 ล้านกีบ หรือราว 22 ล้านบาท กำไรสุทธิ 23% ส่วนครึ่งปีแรก 2021 กำไรเติบโต 10% คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะเติบโตที่ 8- 9% และเพิ่มเป็น 10-15% ในปี 2565