วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
BUSINESS

ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ มั่นใจตลาดคอนเทนต์คุณภาพยังโตต่อ หลังปี 64 รายได้โตกว่า 150%

 

นางนิธินันท์ อัศวทร กรรมการบริษัท ทิคเคิลด์ มีเดีย จำกัด และผู้จัดการประจำประเทศไทยของ ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ (theAsianparent) สังคมออนไลน์ครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ทำให้คนทั่วโลกต้องปรับวิถีการใช้ชีวิตสู่ชีวิตวิถี ใหม่ (new normal) กลุ่มครอบครัวก็เช่นกัน ต้องเปลี่ยนมาทำงานและเรียนที่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด วิกฤติโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลต่อปัญหาด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ปัญหาด้านสังคมที่หลายครอบครัวต้องเผชิญจากการที่ ผู้ปกครองต้องทำงานที่บ้านควบคู่ไปกับการต้องดูแลลูกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับแม่และพ่อในยุคปัจจุบัน

 

ดังนั้น การหาตัวช่วยมาช่วยเติมเต็มความรู้ในด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุดผ่านช่องทางออนไลน์จึงเป็น สิ่งที่ผู้ปกครองมองหา ส่งผลให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับเคล็ดลับด้านเทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง จึงกลายเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ยอดนิยมที่ผู้ปกครองค้นหาเพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับการพัฒนาการทักษะและพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูก รวมถึงการปรับตัวของพ่อแม่อย่างชัดเจน เมื่อสำรวจข้อมูลคำที่ค้นหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวพบว่า มีจำนวนการค้นหาที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ (theAsianparent) มุ่งผลิตคอนเทนต์ที่ตอบสนองต่อ ความต้องการดังกล่าว โดยได้นำความรู้และข้อมูลอันเป็นประโยชน์จากกลุ่มแพทย์ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มนักวิชาการ ที่ชำนาญในด้านต่างๆ และกลุ่มนักโภชนาการมาร่วมสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้มีความหลากหลายและเป็นที่สนใจของ ผู้ปกครองส่งผลให้ยอดผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ พุ่งสูงขึ้น รวมถึงแอปพลิเคชันที่มี Active User ต่อวันหลักแสนคนที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงเทคนิคในการดูแลลูกในช่วงโควิด-19

 

“ช่วงโควิด-19 ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ ได้พัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถรองรับความต้องการของผู้ปกครอง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะและพัฒนาการของลูก ซึ่งได้รับ ความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นแนวทางเดียวกันกับภาพรวมตลาดที่หลายแบรนด์ได้นำการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ในลักษณะดังกล่าวมาใช้เป็นสะพานเชื่อมเพื่อเข้าถึงกลุ่มครอบครัว ตลอดจนแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ หรือความต้องการเพื่อนำมาใช้กำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างเหมาะสม สังเกตได้ว่าแบรนด์ใดที่ปรับตัว และใช้ช่องทางออนไลน์โดยอาศัยคอนเทนต์คุณภาพที่เป็นที่สนใจของกลุ่มครอบครัวในช่วงเวลานั้นๆ จะมีอัตรา การเติบโตทางธุรกิจที่สูง” นางนิธินันท์ อัศวทร กล่าว “ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ ต้องการให้แม่ที่วางแผนจะมีลูก สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยและเลี้ยงลูกได้อย่างมีคุณภาพ สามารถใช้เวลาเตรียมความพร้อมในการดูแล อย่างถูกต้องเพื่ออนาคตของลูก ต้องการให้แม่เข้าถึงคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ได้รับความรู้และข้อมูลที่ถูกต้อง จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะ ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ คือ Health-Technology Company ที่ต้องการดูแลสุขภาพ ของครอบครัว เราต้องการส่งผ่านข้อมูลสู่ user ได้อย่างถูกเวลาและเป็นเรื่องที่ต้องการอย่างแท้จริงเพราะเชื่อว่า แม่ทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับเรา การที่มี player หลายราย เข้ามาในธุรกิจนี้ จะยิ่งทำให้แต่ละองค์กรเกิดการแข่งขันด้านการพัฒนาคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ทำให้ผู้บริโภค เป็นผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด”

 

ปัจจุบันแบรนด์ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจแม่และเด็กได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำตลาด โดยเน้นทำการตลาดโดยตรงสู่กลุ่มลูกค้าผ่านคอมมูนิตี้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม (engagement) กับแบรนด์ผ่าน ช่องทาง Social Media ต่างๆ สอดคล้องกับพฤติกรรมของคุณแม่ยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ที่ข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นตามความเชื่อ มาเป็นการค้นหาข้อมูลทางการ แพทย์จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้องจากสังคมออนไลน์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้อย่าง เหมาะสมกับตนเอง  ส่งผลต่อการสร้างสรรค์คอนเทนต์ของแบรนด์ต่างๆ ที่มุ่งให้ความรู้หรือข้อมูลที่ ถูกต้องเป็นสำคัญ

 

สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันถึงกระแสนิยมของกลุ่มแม่และเด็กที่หันมาใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้นกว่าอดีตคือ รายได้ที่เติบโตกว่า 150% ของ ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ ในปี 2564 “หลายฝ่ายมองว่าผลกระทบ จากสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลต่อการปรับลดงบการตลาดของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแม่และเด็ก แต่ความจริงนั้นตรงกันข้าม ในปี 2565 ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ วางแผนจะพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อช่วยให้คุณแม่ ประหยัดเวลาและเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนาระบบผู้ช่วยจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นสำหรับ แม่เพื่อพัฒนาให้การเลี้ยงลูกมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การต่อยอดให้แอปพลิเคชันของ ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ สามารถช่วยคุณแม่ให้เก็บบันทึกข้อมูลการให้นมลูก การขับถ่าย ตลอดจนพัฒนาการในด้านต่างๆ เพื่อนำข้อมูล เหล่านี้ให้แพทย์หรือคนในครอบครัวได้เห็นพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิดในทุกช่วงเวลา ที่สำคัญข้อมูลเหล่านี้ ยังช่วยให้แม่สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ว่า อะไรคือสาเหตุของความผิดปกติหรือสาเหตุที่ทำให้ลูกป่วย จากบันทึกที่ทำไว้ในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย” นางนิธินันท์ อัศวทร กล่าวเสริม

 

VIP MOM คืออีกหนึ่งโปรเจคพิเศษที่ ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ ได้พัฒนาคอมมูนิตี้ใหม่ขึ้นเพื่อช่วยสร้าง รายได้ให้แก่คุณแม่ยุคใหม่ผ่านการเป็นนักพัฒนาคอนเทนต์ (content creator) เพื่อแชร์ประสบการณ์จริง ในการได้ทดลองสิ่งต่างๆ รอบตัวที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มแม่หรือผู้สนใจท่านอื่นๆ ที่อยู่ในคอมมูนิตี้ให้ได้รับ ประโยชน์จากความรู้และข้อมูลของตนในรูปแบบเรียลไทม์คอนเทนต์มากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้คุณแม่ได้เคล็ดลับวิธี การเลี้ยงลูกในรูปแบบต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

ปัจจุบัน ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ ได้จัดตั้งทีมนักวิจัยทั่วทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีฐานข้อมูลเชิงลึกในแต่ละด้านได้อย่างชัดเจน ทำให้ทราบถึงความเหมือนและความต่างของแม่ ในแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจของแต่ละแบรนด์ “ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ เป็นคอมมูนิตี้ที่มีแม่ที่เป็น real user จำนวนมากอยู่ในแพลตฟอร์มทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ซึ่งเป็นศูนย์รวมที่สามารถสะท้อนให้เห็นความต้องการหรือข้อมูลที่แท้จริงในแต่ละด้านได้อย่างชัดเจน ทำให้เห็นแนวโน้มได้อย่างดี ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากลยุทธ์การสื่อสาร เพื่อเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางนิธินันท์ อัศวทร กล่าวถึงความพร้อมของทีมวิจัย ดิเอเชี่ยนพาเรนท์

 

และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแม่ในประเทศไทย ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ ได้พัฒนาโปรเจค Sidekicks โครงการส่งเสริมการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย โดยรณรงค์ให้คนไทย 200,000 คนร่วมลงชื่อ เพื่อแก้กฎหมายช่วยเหลือครอบครัวที่สูญเสียแม่และเด็กระหว่างคลอด เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ของแม่และลูกระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งกำลังเป็นหนึ่งปัญหาหลักที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะขาดข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอในการดูแลตนเอง โดยในปีนี้ได้ยกระดับการดำเนินงาน เพื่อรณรงค์เชิญชวนคนไทยร่วมลงชื่อสนับสนุน เพื่อแก้ไขกฎหมายการให้คำนิยามใหม่ของคำว่า “ภาวะเสียชีวิตระหว่างคลอด” จากเดิมที่กำหนดอายุครรภ์ไว้ที่ 28 สัปดาห์ให้ลดลงเหลือ 22 สัปดาห์ โดยกำหนดให้พ่อแม่ได้รับสิทธิประโยชน์เต็มที่กรณีสูญเสียบุตรตั้งแต่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ การให้สิทธิประโยชน์ แก่พ่อแม่ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการลาคลอด 98 วันโดยยังคงได้รับเงินเดือนตามปกติ จะช่วยให้พ่อแม่ที่บุตรประสบ ภาวะเสียชีวิตระหว่างคลอดสามารถฟื้นฟูสุขภาพได้ดีกว่า อย่างน้อยก็ทางกาย และยังได้รับการช่วยเหลือ ทางการเงินเพื่อการจัดการเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศพของบุตร การดูแลรักษาสุขภาพหลังคลอด ตลอดจน การให้ความช่วยเหลือทางอารมณ์และทางจิตวิทยา โดยนับตั้งแต่โปรเจค Sidekicks ได้เริ่มรณรงค์ในปีที่ผ่านมา ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ อาทิ บทความ วีดีโอ เว็บบินาร์ และการสำรวจผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้พ่อแม่ยุคใหม่ดำเนินวิถีชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเสียชีวิต ระหว่างคลอดได้ โดยโปรเจคดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่าง 25 ธ.ค. 64 – 8 มี.ค. 65

 

แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2565 นั้น ดิเอเชี่ยนพาเรนท์ ยังมั่นใจว่าจะยังสามารถเติบโตได้ อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตร ทางธุรกิจและนักลงทุนในการขยายธุรกิจ โดยในประเทศไทยได้มีการขยายไปสู่การตลาดแบบออฟไลน์ ด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวให้ดียิ่งขึ้นทั้งด้านการแพทย์ สุขภาพ และการศึกษา