ปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยในนักท่องเที่ยว
โดย รศ.ดร.พญ.จิตติมา ฐิตวัฒน์ และรศ.พญ.กัญญรัตน์ กรัยวิเชียร และ อ.พญ.สุพิชชา กมลรัตนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
ปัญหาผิวหนัง เป็นหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในนักท่องเที่ยว โดยโรคที่พบมากได้แก่ แมลงสัตว์กัดต่อย อาการคันจากผิวแห้ง และผิวไหม้จากแสงแดด โดยแต่ละพื้นที่จะพบปัญหาผิวหนังที่แตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนออกเดินทาง เราควรศึกษาหาข้อมูลของสถานที่ท่องเที่ยวให้ละเอียด เพื่อเตรียมป้องกันตนเองจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปค่ะ บทความนี้ขอเน้นเรื่องแมลงสัตว์กัดต่อย ตามประเภทของแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ มาเรียนรู้กันว่า เราอาจจะพบเจ้าถิ่นแบบไหนและป้องกันอย่างไรก่อนเดินทางนะคะ
เที่ยวทะเล
1.ริ้นทะเล (ปึ่ง)
ริ้นทะเลมีขนาดเล็กกว่ายุง เป็นแมลงบิน อยู่กันเป็นฝูงตามชายหาดและป่าชายเลน เรามักจะมองไม่เห็นตัวริ้นได้ยินแต่เสียงหึ่ง ๆ ริ้นทะเลบินได้ไม่สูงและไม่ไกลเกิน 1-2 กิโลเมตร ตัวเมียดูดเลือดสัตว์เป็นอาหารเพื่อใช้ในการผลิตไข่ ตัวผู้กินแมลง ซากเน่าเปื่อย ออกหากินเวลาเช้าตรู่และพลบค่ำ ส่วนของปากที่ใช้ดูดเลือดมีอวัยวะตัดเฉือนเนื้อเยื่อ ทำให้ผื่นผิวหนังของคนที่ถูกริ้นทะเลดูดเลือดจะมีรูตรงกลางเห็นได้ชัด ไม่ใช่เป็นจุดเล็กๆแบบยุงกัด มักพบหลายตุ่มบริเวณผิวหนังนอกร่มผ้า บางครั้งผื่นอาจเป็นคล้ายจ้ำเลือดเพราะขณะที่ริ้นทะเลกัดจะปล่อยสารยับยั้งการแข็งตัวของเลือด
การป้องกัน ไม่ไปเดินเล่นชายหาด บริเวณที่มีพุ่มไม้รก หรือป่าชายเลน ช่วงโพล้เพล้ ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ใช้ยากันแมลงพ่นที่ตัวเรา
2.พยาธิชอนไชผิวหนัง
เกิดจากการเคลื่อนที่ตัวอ่อนของพยาธิสัตว์บนผิวหนังชั้นนอกของคน ตัวอ่อนของพยาธิไชเข้ามาขณะที่เรานั่ง หรือนอนเล่นบนพื้นทรายที่มีการปนเปื้อนของมูลสัตว์ เช่น สุนัข แมว เนื่องจากคน ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่พยาธิเติบโต พยาธิตัวอ่อนจึงอยู่ได้แค่ในผิวหนังกำพร้าแล้วตายไปในที่สุด ผื่นผิวหนังตอนแรกจะเกิดเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดงก่อน คันมาก เมื่อตัวอ่อนพยาธิเริ่มเคลื่อนที่จะเห็นผื่นเป็นเส้นนูนคดเคี้ยว สีแดงกว้าง 2-3 มิลลิเมตร ผื่นอาจมีความยาวได้ถึง 20 เซ็นติเมตร พบมากที่บริเวณเท้า ก้น ลำตัว ขา หรือบริเวณอื่น ๆ ที่สัมผัสกับดินโดยตรง
การป้องกัน หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า การนั่งหรือใช้มือสัมผัสดินปนทรายนาน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิมากกว่าบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึง
3.แมงกะพรุนไฟ
แมงกะพรุนไฟ มีเข็มพิษจำนวนมากอยู่ที่บริเวณหนวด เมื่อสัมผัสโดนผิวหนังเรา เข็มพิษจะแตกออก ปล่อยพิษเข้าสู่คน ทำให้เป็นผื่นแดง ไหม้ พุพอง บริเวณที่โดนพิษได้ ผื่นจากแมงกะพรุนไฟจะเป็นแนวยาวตามเส้นหนวดของแมงกะพรุนที่พาดกับผิวเรา แมงกะพรุนพบได้ทั้งฝั่งทะเลอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย พบมากในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกแมงกระพรุน ทำตามลำดับ ดังนี้ 1) เรียกให้คนช่วย อยู่นิ่ง ๆ 2) ห้ามขัดถูบริเวณที่ถูกแมงกะพรุนหรือราดน้ำจืด เพราะจะทำให้มีการปล่อยพิษเพิ่มขึ้น ให้ราดน้ำส้มสายชู บริเวณที่มีร่องรอยจากการสัมผัสแมงกะพรุนให้ทั่วนานอย่างน้อย 30 วินาที จากนั้นค่อย ๆ ดึงเข็มพิษออกจากผิวหนังอย่างระมัดระวัง … การป้องกัน ศึกษาหาข้อมูลว่าหาดที่เราจะไปมีแมงกะพรุนชุกในช่วงใดของปี ไม่เล่นน้ำทะเลในฤดูฝน เล่นน้ำทะเลบริเวณที่ทางราชการจัดให้
4.หอยเม่น
เมื่อเล่นน้ำทะเล หรือดำน้ำบริเวณที่มีปะการัง มักพบเห็นหอยเม่นที่พื้นทรายใต้ทะเล ถ้าเหยียบบนพื้นหรือจับโขดหินโดยไม่ระวัง อาจถูกหนามของหอยเม่นตำ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือเป็นแผล และมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา หอยเม่นบางชนิดมีเข็มพิษทำให้ปวดมาก การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกหนามของหอยเม่นตำ ให้ใช้ปากคีบดึงหนามออก แช่มือหรือเท้าบริเวณที่ถูกตำในน้ำร้อน 45 องศาเซลเซียส นาน 30-90 นาทีเพื่อทำลายพิษจากหอยเม่น
เที่ยวป่า ภูเขา น้ำตก
1.เห็บ
คนจะโดนกัดเมื่อเข้าไปในถิ่นที่อยู่ของเห็บ เช่น ตามพุ่มไม้ บริเวณที่รก เห็บอาศัยตามใบไม้คอยกระโดดเกาะและดูดเลือดคนหรือสัตว์ที่ผ่านมา ขณะเห็บกัดคนมักไม่รู้สึกเพราะเห็บจะค่อย ๆ สอดส่วนปากลงไปในผิวหนังและน้ำลายของเห็บมีสารที่ทำให้รู้สึกชา สารยับยั้งการแข็งตัวของเลือด สารยับยั้งการอักเสบของร่างกาย เห็บสามารถกัดได้ทุกส่วนของร่างกาย อาการของเห็บกัดเกิดได้จากส่วนที่เหลือของปากเห็บที่ค้างในผิวทำปฏิกริยากับภูมิคุ้มกัน โดยชนิดและความรุนแรงของผื่น ขึ้นอยู่กับชนิดของเห็บ ระยะเวลาการโดนดูดเลือด ขนาดของส่วนปากของเห็บ ประวัติการโดนเห็บกัดมาก่อนและปฏิกริยาภูมิคุ้มกันของแต่ละคน …การป้องกัน ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ไม่เดินไปในที่รก ใบไม้หนาทึบ ใช้ยากันแมลงพ่นที่ตัวเรา ถ้าถูกเห็บกัด ให้ใช้ปากคีบจับที่ส่วนหัวของเห็บดึงออกในแนวตรง ตั้งฉากกับผิวหนัง เมื่อเห็บหลุดออกมาให้สังเกตว่า มีส่วนของปากหลุดออกมาครบ และควรทำความสะอาดแผลด้วยการฟอกสบู่และทายาฆ่าเชื้อโรค
2.ริ้นดำ (คุ่น)
ริ้นดำจะมีรูปร่างลักษณะคล้ายริ้นทะเล แต่มีถิ่นที่อยู่ต่างกัน คือ ริ้นดำจะวางไข่บริเวณก้อนหินบนลำธารน้ำไหล ตัวอ่อนต้องการน้ำที่มีออกซิเจนสูง ชอบอากาศเย็น จึงพบบริเวณลำธารบนภูเขาทางภาคเหนือของไทย ออกหากินทั้งเวลากลางวันกลางคืน ตัวเมียจะดูดเลือดสัตว์เป็นอาหาร ผื่นผิวหนังจากริ้นดำกัดจะมีลักษณะคล้ายกับที่โดนริ้นทะเล การป้องกัน ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ใช้ยาทากันแมลง
โรงแรมที่พัก โฮมสเตย์
เรือด
ตัวเรือดมีลำตัวแบนสีน้ำตาลแดง ขนาดประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ไม่มีปีก อาศัยอยู่ตามซอกรอยแตก ตะเข็บของที่นอน หมอนหรือเฟอร์นิเจอร์ ตัวเรือดจะออกมาเฉพาะกลางคืน เพื่อดูดเลือดจากสิ่งมีชีวิต อาจมาสู่บ้านของนักท่องเที่ยว โดยติดมากับกระเป๋าเดินทาง จึงควรเก็บกระเป๋าเดินทางออกจากพื้น และปิดฝากระเป๋าเมื่อไม่ใช้งานแล้ว ตัวเรือดกำจัดยากต้องใช้ความร้อนสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ตัวเรือดมักกัดบริเวณใบหน้า คอ แขน ลำตัว รอยกัดจากตัวเรือดจะเป็นตุ่มแดงคันขนาด 2-5 มิลลิเมตร ไม่เจ็บ ส่วนมากจะเรียงตัวกันเป็นแนว 3-4 ตุ่ม ผื่นเกิดหลังถูกกัด เป็นชั่วโมงหรือหลายวันได้ รอยกัดของตัวเรือดเป็นอาการเฉพาะที่ หายได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์
จะเห็นว่าผื่นผิวหนังที่เกิดกับนักท่องเที่ยวไม่น่ากังวล และสามารถป้องกันได้ โดยการศึกษาข้อมูลและเตรียมเสื้อผ้า ของใช้ให้เหมาะสมต่อการเดินทางในแต่ละสถานที่ที่จะไปและกิจกรรมที่จะทำ อยากเชิญชวนให้เที่ยวเมืองไทย ประเทศของเรามีธรรมชาติที่สวยงามและขนมธรรมเนียมประพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเอง ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเช่นนี้ อย่าลืมรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์
สำหรับผู้สนใจที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติม สามารถเข้าชมข้อมูลได้ที่เพจ “ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง” ได้ที่ https://fb.watch/aaSe_LfGQt/ หรือเข้าศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย (WWW.DST.OR.TH)