วันเสาร์, กันยายน 7, 2024
HEALTH

Omicron: ภาพรวมของสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ดูเหมือนจะถึงจุดสูงสุดแล้วในบางประเทศ โดยสหราชอาณาจักรเตรียมผ่อนคลายข้อจำกัดลง โดย มาร์ค ไอน์สเวิร์ธ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเชิงลึกของ Schroders อธิบายว่าสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไปนั้นมีอะไรบ้าง

 

โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แพร่กระจายอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่เริ่มตรวจพบครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อสุขภาพนั้นไม่ได้รุนแรงอย่างที่หลายคนกังวลในตอนแรก

 

กรณีตัวอย่างการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่ลอนดอน แสดงให้เห็นว่าแม้ยอดผู้ป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าระลอกการระบาดในปีที่ผ่านมา แต่เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนั้นจะพบว่า น้อยกว่าจำนวนผู้ป่วยเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้วอย่างมาก และก็ดูเหมือนว่าการแพร่ระบาดได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

 

เห็นได้ชัดว่าวัคซีน และการติดเชื้อในรอบก่อนหน้า สามารถช่วยป้องกันการเจ็บป่วยหนักที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี แต่ทั้ง 2 ปัจจัย ทั้งการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อก่อนหน้านี้ กลับไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนได้มากนัก

 

 3 เหตุผลที่บ่งบอกว่าโอมิครอนแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นอย่างไร

 

1.ความแตกต่างอย่างแรกคือ ในปีที่แล้วนักวิทยาศาสตร์สามารถระบุได้อย่างรวดเร็วว่าโอมิครอนมีการกลายพันธุ์ที่แตกต่างในโปรตีนตรงส่วนหนาม (spike protein) บนผิวของไวรัส เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า ซึ่งทำให้ไวรัสหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันของแอนติบอดีได้ ทำให้มีคนจำนวนมากที่เคยติดเชื้อแล้วกลับมาติดเชื้อซ้ำ หรือสามารถติดเชื้อได้แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คืออัตราการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงที่ลดลง นั้นหมายถึง T-cells ซึ่งเป็นระบบภูมิคุ้มกันที่อยู่ลึกกว่าทำงานได้ดีในการต่อสู้กับไวรัส จึงมีผู้ป่วยหนักน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และลดผลกระทบโดยรวมต่อระบบการรักษาพยาบาลลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง

 

2.ความแตกต่างที่สองคือ ตอนนี้เราทราบแล้วว่าโอมิครอนสามารถแพร่เชื้อได้ดีในเซลล์ของร่างกายมนุษย์บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าในปอด ซึ่งแตกต่างจากโควิด-19 สายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนหน้า ทำให้โรคมีความรุนแรงน้อยลง จึงส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยลงไปด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เรามองว่าความแตกต่างนี้มีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อระบบการรักษาพยาบาลถึงหนึ่งในสี่หรือประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์

 

3.ความแตกต่างที่สามคือ ความรวดเร็วในการแพร่เชื้อของโอมิครอน โดยวัดจากค่า R (reproduction number) หรืออัตราการแพร่เชื้อ เมื่อไวรัสมีค่า R ที่สูง การแพร่กระจายก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลักฐานหลายอย่าง (ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การแพร่ระบาดแบบ super spreading ในนอร์เวย์ หรือรายงานวิจัยการติดตามการติดเชื้อในเกาหลีใต้) ต่างบ่งชี้ไปที่การติดเชื้อโอมิครอนใช้เวลารวดเร็วมากในการแพร่เชื้อจากคนที่ติดเชื้อแล้วและไปแพร่เชื้อต่อให้ผู้อื่น และการแพร่กระจายจะหยุดก็ต่อเมื่อประชากรจำนวนมากติดเชื้อแล้ว ซึ่งหมายความว่าจุดพีคที่สุดของการแพร่ระบาดนี้ และจำนวนผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอนทั้งหมด น้อยกว่าที่เราเคยกลัวอย่างมาก ทำให้ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั้งหมดในระบบการรักษาพยาบาลสุขภาพลงได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม โอมิครอนก็ยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบการรักษาพยาบาลในหลายประเทศ และผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อนก็ยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงได้

 

สถานการณ์ในประเทศต่างๆ ในระยะการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่แตกต่างกัน

 

เช่นเดียวกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อื่น ๆ หลายประเทศทั่วโลกประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโอมิครอนในเวลาที่ต่างกันเล็กน้อย บางประเทศที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น แอฟริกาใต้ หรือสหราชอาณาจักร ต่างพบว่าจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อนั้น เริ่มลดลงแล้ว

 

ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น เยอรมนี ยังคงประสบปัญหาจำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น แต่โชคดีที่ยอดผู้ติดเชื้อในเยอรมนีไม่ได้เพิ่มขึ้นมากอย่างที่เราคาดไว้และแสดงสัญญาณว่ากำลังชะลอตัวลง

 

เราคาดว่าหลายประเทศที่ยอดผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นอาจใกล้ถึงจุดสูงสุดของการแพร่ระบาดภายในหนึ่งหรือสองสัปดาห์จากนี้

 

ขาลงช้ากว่าขาขึ้น

 

แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้ออาจเริ่มมีจำนวนคงที่หรือลดลง แต่การลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อจะเป็นไปอย่างช้าๆ ไม่เหมือนช่วงที่เริ่มมีการติดเชื้อ ซึ่งปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากแผนภูมิด้านบนซึ่งบ่งบอกว่ายอดผู้ติดเชื้อในประเทศแอฟริกาใต้ที่ลดลงครั้งล่าสุดนั้นลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเทียบกับตอนที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ ที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

นั่นเป็นเพราะว่าความเชื่อมโยงระหว่างอัตราผู้ป่วยและพฤติกรรมของประชากร โดยบางประเทศได้รีบออกมาตรการจำกัดด้านการควบคุมโรคเพิ่มเติมอันเป็นผลมาจากการระบาดของโอมิครอน ในขณะเดียวกัน บางประเทศอาจไม่ได้ออกมาตรการข้อจำกัดในการควบคุมโรคเพิ่มเติม แต่กลับเป็นประชาชนที่ปรับพฤติกรรมของตนให้สอดคล้องกับข้อควรปฏิบัติและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

 

เมื่อจำนวนเคสผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง รัฐบาลและประชาชนก็จะผ่อนปรนมาตรการและพฤติกรรมมากขึ้นเช่นกัน รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ จะถูกยกเลิกและพฤติกรรมของผู้คนจะค่อยๆ กลับไปสู่ภาวะปกติ และอัตราการติดเชื้อก็ลดลงไปสู่เกณฑ์ปกติ ยกตัวอย่างเช่น หากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยใช้เวลาสองสัปดาห์ เท่ากับว่าจะใช้เวลาอีกหนึ่งหรือสองเดือนก่อนที่พวกเขาจะกลับไปสู่ระดับปกติก่อนหน้า

 

หมายความว่าแม้ยอดผู้ป่วยของบางประเทศอาจเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุด แต่ก็อาจยังต้องใช้เวลาอีกประมาณสองถึงสามเดือนก่อนที่เราจะรู้สึกว่าการแพร่ระบาดของโอมิครอนจะสิ้นสุดลงในแง่ของผลกระทบที่มีต่อโรงพยาบาล เราควรตระหนักไว้ด้วยว่าโดยทั่วไปแล้ว จำนวนผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลก็จะเพิ่มสูงสุดในช่วงเวลาประมาณสองสัปดาห์หลังจากเกิดกรณีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุด

 

ผลกระทบต่อข้อจำกัดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า การผ่อนคลายข้อจำกัด ก็อาจจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน ตัวอย่างเช่นสหราชอาณาจักร ที่เริ่มยกเลิกการให้คนทำงานที่บ้านในสัปดาห์หน้านี้แล้ว

 

การผ่อนคลายข้อจำกัด และการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมโดยสมัครใจของผู้คนอาจใช้เวลาประมาณสองถึงสามเดือน เมื่อประเทศผ่านจุดสูงสุดของของจำนวนเคสผู้ป่วยแล้วความตึงเครียดในระบบการรักษาพยาบาลจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของรัฐบาลในการคลายข้อจำกัด

 

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ต้องเน้นย้ำคือ แม้ว่าหลายๆประเทศ ได้เริ่มยกเลิกมาตรการ Zero Covid แต่เปลี่ยนมาเป็นเรียนรู้ที่จะอยู่กับ Covid เช่น ออสเตรเลีย เป็นต้น แต่ประเทศจีนยังคงยึดมั่นในยุทธศาสตร์ “Zero Covid” ของตน ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด และการลดจำนวนการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ ซึ่งนี่อาจยังคงสร้างแรงกดดันต่อห่วงโซ่อุปทาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2565 อย่างต่อเนื่อง