ถอดบทเรียน TOD สถานีรถไฟใต้ดินกรุงโซล สู่แนวทางการพัฒนาสถานีขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานคร
ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เป็นเมืองที่การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าระบบราง ตามแนวทางของ TOD (Transit – Oriented Development) หรือการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะ จนสามารถพัฒนาเมืองด้วยการสร้างสถานีรถไฟฟ้าระบบราง ที่มีจำนวนสถานีมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากมหานครนิวยอร์ค ซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีโครงข่ายรถไฟฟ้าระบบรางที่ดีที่สุดในโลก เหตุใดพวกเขาจึงประสบความสำเร็จด้านนี้อย่างมาก วันนี้เราจะมาถอดบทเรียนความสำเร็จจากประเทศที่ไม่ได้มีดีแค่อุตสาหกรรมบันเทิงแห่งนี้
ย้อนกลับไปในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1980 – 2000 การพัฒนาพื้นที่ดินของกรุงโซลส่วนใหญ่ เกาะกลุ่มอยู่ตามแนวถนนสายหลัก เน้นการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถประจำทาง จึงเกิดปัญหาเรื่องการขยายเมืองอย่างไร้ทิศทาง (Urban Sprawl) ด้วยภาคธุรกิจต่างๆ แย่งจับจองพื้นที่ริมถนนสายหลักเพื่อให้ได้ทำเลที่เดินทางสะดวกที่สุด ทำให้การเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมือง ต้องเดินทางด้วยการใช้รถยนต์หรือรถประจำทางเท่านั้น แม้กรุงโซลเริ่มมีรถไฟฟ้าระบบรางเกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1974 แต่ประชาชนยังไม่นิยมใช้มากนัก ส่วนใหญ่นิยมใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อเลี่ยงความแออัดยัดเยียดบนรถประจำทางและรถไฟฟ้าระบบราง ซึ่งคล้ายกับปัญหาที่กรุงเทพมหานครกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันอย่างมาก
เกาหลีใต้ จึงแก้ไขด้วยการสร้าง 5 เมืองใหม่บริเวณชานเมืองรอบกรุงโซล เพื่อกระจายความแออัดออกไปพร้อมๆ กับนำแนวคิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะ แบบ TOD มาใช้พัฒนาสถานีรถไฟฟ้าระบบราง เชื่อมโยงเส้นทางจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมือง ควบคู่กับการพัฒนาระบบรถประจำทางสาธารณะไปพร้อมๆ กัน ในช่วงเวลานั้นมีการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กฎหมายว่าด้วยการวางผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนที่ดิน กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัย มาบังคับใช้อย่างเด็ดขาด เพื่อปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามผังเมืองระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการแบบเดียวกับเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ที่ใช้ตัวบทกฎหมายเข้ามาบังคับใช้ตามแนวทาง TOD เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าระบบรางของกรุงโซล ถูกจัดวางในรูปแบบพื้นที่แบบผสม (Mixed-Use) ระหว่างพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรมกับที่อยู่อาศัย อาคารปลูกสร้างโดยรอบพื้นที่สถานีใจกลางเมืองถูกกำหนดให้พื้นที่ชั้นล่างเป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรมและชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ทำให้ประชาชนสามารถอาศัยอยู่ใกล้สถานีและสามารถเดินทางไปสถานีได้อย่างสะดวกสบายด้วยการเดิน ในขณะเดียวกันก็สามารถซื้อของใช้ประจำวันได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่อื่น ทำให้ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมและอะพาร์ตเมนต์ในกรุงโซลมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่องและเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก
การพัฒนาในรูปแบบนี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวและได้รับผลประโยชน์ร่วมกันเสมอ แต่ผู้ที่จะได้ผลประโยชน์มากที่สุดต้องเป็นประชาชน รัฐบาลเกาหลีใต้จูงใจนักลงทุนด้วยการวางแผนและสนับสนุนเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงของระบบทางเท้า ทางจักรยานสัมพันธ์กับพื้นที่รอบสถานี ด้านเอกชนจะได้รับการลดหย่อนภาษี เพื่อลงทุนในพื้นที่ตามแผนที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ โดยมีผลกำไรที่จะได้แน่นอนจากการลงทุน
เกาหลีใต้เริ่มการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าระบบรางมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 1974 โดยเริ่มปรับปรุงพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าระบบรางให้เป็นไปในรูปแบบ TOD ประมาณปี ค.ศ.2000 จนถึงปัจจุบัน กรุงโซลมีเส้นทางสถานีรถไฟฟ้าระบบรางรวมกันทั้งสิ้น 22 เส้นทาง 689 สถานี มีระยะทางรวมถึง 1,117 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กรุงโซล และ 5 เมืองโดยรอบมีประชาชนเข้าใช้บริการ เฉลี่ยต่อวันสูงถึง 8 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดในกรุงโซล 10 ล้านคน และเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 2,200 ล้านคน มีการสำรวจการเดินทางของชาวเกาหลีใต้ในกรุงโซล พบว่า ประชาชนนิยมเดินทางด้วยรถไฟฟ้าในกรุงโซลสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของการเดินทางภายในกรุงโซลทั้งหมด
ในส่วนเกณฑ์เฉลี่ยการเดินทางของประชาชนชาวเกาหลีใต้นิยมการเดินทางด้วยรถไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ มีการใช้รถเมล์สาธารณะสูงถึง 63 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะตามแนวทางของ TOD นั้น ช่วยส่งเสริมจูงใจให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ช่วยลดปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ แม้จะมีปัญหารถติดอยู่บ้าง แต่กรุงโซลก็ไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีรถติด ชาวต่างชาติหลายคนรีวิวการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงโซล โดยตั้งชื่อให้การเดินทางในกรุงโซลว่า “Seoul Smooth” หมายถึง การเดินทางที่สะดวกสบาย ถึงปลายทางได้อย่างไหลลื่นไม่ติดขัด
จากกรุงโซลที่เคยประสบปัญหาเดียวกับกรุงเทพมหานคร ในวันนี้กรุงโซลพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะ แบบ TOD และประสบความสำเร็จอย่างมาก ในขณะที่กรุงเทพมหานคร แม้จะยังไม่ได้รับการแก้ไขพัฒนาตามแนวทาง TOD อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็ยังไม่สาย หากภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคนร่วมใจสนับสนุนแนวทาง TOD ที่จะนำพาระบบขนส่งสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ทัดเทียมกับเหล่าประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจากบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด และ Korea Transport Institute (KOTI)
ขอบคุณภาพจาก www.creatrip.com