วันเสาร์, พฤศจิกายน 9, 2024
LIFESTYLE

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน (วพศส.) เปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์และวิศวกรรมการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ)  

 

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์และวิศวกรรมการแพทย์ หรือ MPME (Medical Physics and Medical Engineering) เป็นหลักสูตรปริญญาเอกหลักสูตรแรกของ วพศส. มุ่งเน้นผลิตนักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อช่วยพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการรักษา และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการแพทย์ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

 

จุดเด่นของหลักสูตร ฟิสิกส์การแพทย์มุ่งเน้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัย ในขณะที่วิศวกรรมการแพทย์เป็นการใช้ความรู้ทางวิศวกรรมในการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ การบูรณาการฟิสิกส์การแพทย์และวิศวกรรมการแพทย์เข้าด้วยกัน จะช่วยให้บัณฑิตเห็นภาพรวมของการพัฒนาและการบริหารจัดการอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย รวมทั้งการให้บริการทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยและผู้รับบริการ นักศึกษาที่จบจากหลักสูตรสามารถทำงานเป็นนักวิจัย นวัตกร อาจารย์มหาวิทยาลัย บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ประกอบการ ที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์และการให้บริการทางการแพทย์ให้มีความทันสมัยและเป็นสากลนอกจากนี้นักศึกษาของหลักสูตร ไม่เพียงแต่จะเรียนรู้กระบวนการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านฟิสิกส์การแพทย์และวิศวกรรมการแพทย์ แต่จะได้รับการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การบริหารจัดการ การสื่อสาร และการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ โดยการวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบันและอนาคตมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการคำนวณเชิงคณิตศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ในหลักสูตรจัดให้มีการทำวิจัยเชิงลึกทางด้านการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพ รวมทั้งการออกแบบเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์สมัยใหม่ที่ใช้ข้อมูลทางคลินิก

 

รายละเอียดหลักสูตร MPME ประกอบด้วยแผนการศึกษา 1.1 สำหรับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 3 ปี และแผนการศึกษา 1.2 สำหรับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี นักศึกษาจากทั้งสองแผนการศึกษาจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำวิจัย โดยจะมีวิชาบังคับเพียง 5 วิชาที่จะช่วยสนับสนุนการทำวิจัยของนักศึกษา เช่น วิชาระเบียบวิธีวิจัย และวิชาสัมมนาในระดับต่าง ๆ นักศึกษาของหลักสูตรจะได้รับคำแนะนำและร่วมวางแผนการเรียนและการวิจัยแบบรายบุคคลจากอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งจะมีการติดตามความก้าวหน้าของนักศึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้นักศึกษาสามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามที่วางแผนไว้

 

ส่วนเพิ่มเติม วพศส. ได้จัดให้มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลต่างๆ และหน่วยงานเครือข่ายของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นักศึกษาจะได้รับการฝึกทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มแรกที่เข้าศึกษาในหลักสูตร เพื่อการพัฒนาโครงการวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ในหลักสูตร MPME และ วพศส. มีคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย ทั้งทางด้านฟิสิกส์การแพทย์ วิศวกรรมการแพทย์ แพทย์ วิทยาศาสตร์ข้อมูล และชีววิทยา นักศึกษาจะมีโอกาสได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาซึ่งจะช่วยเพิ่มมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อการทำวิจัย เพื่อช่วยพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการรักษา และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการแพทย์ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติต่อไป

 

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการวิจัยกับหลากหลายสถาบันในต่างประเทศ นักศึกษาของหลักสูตร MPME จะได้มีโอกาสในการไปแลกเปลี่ยนและปฏิบัติงานวิจัยระยะสั้นในสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งได้รับคำปรึกษาด้านการวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการ โดยหลักสูตร MPME มีทุนสนับสนุนการทำวิจัยและการเผยแพร่ผลงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาของหลักสูตรมีโอกาสได้ประสบการณ์ในการเรียนรู้ไปสู่ระดับนานาชาติ

 

-เปิดรับสมัครรอบแรกถึง 29 เมษายน 2565

-เปิดรับสมัครรอบสอง วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 – 30 มิถุนายน 2565

 

สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

Email: mpme.pscm@cra.ac.th เบอร์โทร 02 576 6600 ต่อ 8446

Website: http://medical.pccms.ac.th/

Facebook: MPME.PSCM