วันศุกร์, ธันวาคม 13, 2024
HEALTH

เปิดรั้วการศึกษา บัณฑิตหลักสูตรใหม่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ “วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ” เรียนไปไม่ตกงาน พร้อมก้าวเข้าสู่โลกอนาคต การรักษาโรคแบบแม่นยำด้วยฐานข้อมูล

 

หลังจากที่ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จับมือร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการจัดตั้งหลักสูตรใหม่ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ (Health Data Science) ไปเมื่อปี พ.ศ.2561 ด้วยปรัชญาของหลักสูตรอย่าง “ผลิตนักวิทยาศาสตร์ที่มีทักษะปฏิบัติที่ดี สามารถเรียนรู้ได้เองอย่างต่อเนื่อง ประยุกต์องค์ความรู้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพ และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนาคุณภาพและสุขภาพของประชาชน” โดยได้ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ข้อมูล ในการมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศไทย รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

 

จากส่วนประกอบที่ลงตัวของ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้หลักสูตรวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งสาขาที่นำข้อมูลทางการแพทย์จำนวนมหาศาลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาโรค ป้องกันโรค ใช้แก้ไขปัญหาทางการแพทย์ และการสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง รัดกุม มีระเบียบแบบแผน ด้วยความมุ่งหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมให้ดียิ่งขึ้น

 

ในวันนี้ มีนักศึกษารุ่นแรกที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นบัณฑิต เพื่อนำองค์ความรู้ตลอด 4 ปี มาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด ต้นข้าว-อสมา ตั้งปรมัตถ์สกุล หนึ่งในว่าที่วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ได้เผยถึงแรงบันดาลใจที่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพไว้ว่า “ตอนมัธยมเคยอ่านบทความเกี่ยวกับดาต้าไซน์ ก็เลยทำให้ทราบว่ามันกำลังเป็นเทรนด์ ก็เลยทำให้สนใจด้านนี้ พอเห็นหลักสูตรนี้ก็สนใจเพราะว่ามันน่าเรียน คิดว่าว่ามันเป็นอาชีพมาแรง คือเราโฟกัสว่าอยากทำอาชีพอะไรก็เรียนอย่างนั้น หลักการเลือกคณะ หนึ่งต้องเป็นสิ่งที่เราสนใจ สองเรียนจบแล้วมีงานทำไหม? ซึ่งค่อนข้างกังวลตรงนี้ สามมาเรียนแล้วชอบ เรียนไปเรียนมาสนุกดี อย่างวิชาดาต้าไซน์หรือแมทช์ชีนเลิร์นนิ่งจะมีงานที่แบบให้ทำโมเดลโน่นนี่ พอเราได้สร้างโมเดลแล้วมันเป็นงานที่สนุก ทำไปทำมาก็อยากทำโมเดลให้เก่งขึ้น แม่นขึ้นค่ะ ทั้งนี้ เสน่ห์และความท้าทายอยู่ที่แต่ละคนมีวิธีสร้างโมเดลต่างกัน ขึ้นอยู่ที่ว่าเราต้องการสร้างแบบไหนแล้วมันเหมาะไหม แต่ละคนทำก็จะไม่เหมือนกัน”

 

ด้าน เจมส์-พีรวิชญ์ อามาตรมนตรี ได้ให้ข้อมูลไว้สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวจะเรียนที่นี่ “สำหรับน้องๆ ที่จะมาเรียน หลักสูตรนี้เหมาะกับน้องๆ ที่เก่งในการตั้งคำถาม ถ้ากล้าคิด กล้าตั้งคำถาม เป็นนักวิทยาศาสตร์ได้แน่นอน กล้าตั้งคำถามไม่พอ แต่ต้องกล้าที่จะหาคำตอบด้วย ดังนั้น น้องๆ ที่มีบุคคลิกที่จะมาเรียนดาต้าไซน์ หนึ่งคือต้องกล้าตั้งคำถาม สองกล้าหาคำตอบ อย่างที่สามก็คือจะต้องมีความกล้าแสดงออกนิดหนึ่ง เพราะการเป็นเฮลท์ ดาต้าไซน์ที่ดีจะต้องสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้ด้วย เพราะดาต้าไซน์จะไม่เหมือนดาต้าเอ็นจีเนียร์ที่จะต้องนั่งเฉพาะคอมคลิกข้อมูล แต่ดาต้าไซน์จะต้องนำอินไซด์ข้อมูลนั้นๆ มาพูดกับผู้บริหารหรือว่าคนที่สามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อเข้าใจได้ด้วย ตรงนี้คือคีย์เวิร์ดสำคัญ ส่วนเรื่องการเรียนการสอน โดยสรุปต้องเตรียมพร้อมทั้งหมด 3 อย่าง ส่วนแรกก็คือ โปรแกรมมิ่ง เบสิกโปรแกรมมิ่งตรงนี้ควรที่จะมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นภาษาอาร์หรือภาษาไพทอน (R และ Python) ก็ควรจะมีมาก่อน ส่วนทีสองคือ คณิตศาสตร์ (Mathematics) ในเรื่องของสถิติเบื้องต้น ตรงนี้ควรที่จะรู้มาก่อนก็จะดี ส่วนที่สามคือ ความรู้ (Knowledge)การสาธารณสุข เรื่องของสุขภาพเบื้องต้น อันนี้ยังไม่ต้องเจาะลึก ให้รู้พื้นฐานของชีววิทยามาก่อนก็จะดีมาก ๆ”

 

แล้วสิ่งที่คาดหวังในหลักสูตร เป็นไปอย่างที่เราหวังไว้หรือไม่ อีกหนึ่งในว่าที่บัณฑิตอย่าง ฟลุ๊ค-ธนัชชา ทองจิตติพงศ์ ได้ให้แนวทางการเรียนไว้ว่า “หลักสูตรนี้เป็นการรวม 2 ด้านไว้ด้วยกัน ทั้งข้อมูลทางด้านคอมพิวเตอร์ และข้อมูลทางด้านสุขภาพ แต่พอเข้ามาเรียนแล้วคิดว่ามันเหมาะสมกับคนที่สนใจทางด้านโปรแกรมมิงเป็นหลัก เพราะการทำงานด้านดาต้า ถ้าเราทำโปรแกรมมิงได้ มันก็จะดีกว่า อย่างข้อมูลสุขภาพมันสามารถใช้ข้อมูลทางด้านอื่นได้ เลยคิดว่าถ้ามีความชอบทางด้านโปรแกรมมิ่งเป็นหลัก ก็น่าจะเหมาะสมกับสาขานี้มากกว่า ถ้าไม่อยากเสียเวลาไปเรียนทางด้านข้อมูลอื่น ข้อมูลทางด้านสุขภาพก็สำคัญเหมือนกัน รู้ 2 ด้านก็ดี สรุปคือหลัก ๆ เรื่องโปรแกรมมิ่ง รองลงมาคือข้อมูลสุขภาพ พวกชีวะและคอมพิวเตอร์ และอาจจะมีทางด้านสถิติร่วมด้วย”

 

สำหรับน้อง ๆ ที่กังวลว่า 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ จะเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งการเรียน และกิจกรรม

 

บอล-ณัฐวุฒิ แถมเงิน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “4 ปีที่มาเรียนหลักสูตรนี้จะเจอความท้าทายและความสนุกเป็นอันดับแรก (หัวเราะ) ภาพรวมทั้งหมด เพราะที่นี่ไม่ได้มีแค่การเรียนอย่างเดียว เรายังมีกิจกรรมให้ทำร่วมกันด้วย และถ้าพูดถึงเรื่องของการเรียน ปีหนึ่ง เราก็จะเรียนเรื่องพื้นฐานหมดเลย พื้นฐานโปรแกรมมิ่ง พื้นฐานคณิตศาสตร์ พื้นฐานทางชีววิทยา หรือว่าทางด้านสาธารณสุขทางการแพทย์ พอมาปี 2 เราก็จะได้จับเรื่องข้อมูลแล้ว แต่ก็จะเป็นเรื่องดาต้าเบส เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับข้อมูล ดาต้า สตรัคเจอร์ (DATA STRUCTURE) ข้อมูลเป็นอย่างไร มีแหล่งที่มาของข้อมูลอย่างไร มีการข้อมูลอย่างไร ในปี 3 ก็จะเป็นเรื่องของดาต้าไซน์ล้วนๆ ก็จะเรียนวิชาดาต้าไซน์ เรียนวิชาบิ๊กดาต้า เรียนบิสซิเนส อินเทลลิเจนท์ (BUSINESS INTELLIGENCE) เริ่มหาอินไซด์ของข้อมูลแล้ว แล้วพอมาปี 4 ซิกเนเจอร์ของเราคือช่วงเวลาของโปรเจค ช่วงที่เราเรียนมา 3 ปี เราจะเอาความรู้ตรงนั้น มาทำโปรเจคต์อะไรได้บ้างเพื่อที่จะนำมาแก้ปัญหาสังคมของเรา อันนี้มุมของการเรียน แต่ในมุมของกิจกรรม กิจกรรมของเรา ก็อย่างที่ถามมาเลย เพราะว่าเราเป็นนักศึกษาที่เรียน 2 สถาบัน ดังนั้นเราเหมือนเป็นนักศึกษา 200 เปอร์เซ็นต์ ก็คือเรามีบัตรนักศึกษา 2 ใบ มีชุดนักศึกษา 2 ชุด และการทำกิจกรรมของเราก็จะอยู่ทั้ง 2 ที่เราก็จะมีกิจกรรมคูณ 2 เลือกได้ตามสบายเลย ว่าอยากจะร่วมกิจกรรมอะไรบ้าง”

 

มากไปกว่าการได้เรียนรู้ข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน การได้นำความรู้ที่มีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเพื่อมนุษย์ก็สำคัญเช่นกัน มากไปกว่านั้นหลักสูตรนี้ยังช่วยต่อยอดความรู้ และอาชีพไปได้ในหลายแขนง อาทิ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักวิเคราะห์ข้อมูล นักพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบข้อมูล ผู้จัดการซอฟต์แวร์และข้อมูล หรือจะเป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ก็เช่นกัน

 

ผู้ที่สนใจสมัครสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

http://www.pccms.ac.th/?p=3821

Facebook: Health Data Science PCCMS KMUTT