วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 12, 2024
HEALTH

hed

สบส. ห่วงวัยเรียนหลังพบติดหวาน แนะดื่มน้ำเปล่าดีต่อสุขภาพ 

 

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เตือนกลุ่มเด็กวัยเรียน ลดพฤติกรรมการกินหวาน รวมทั้งเครื่องดื่มรสหวาน หลังผลสำรวจพบว่า เด็กไทยมีแนวโน้มการบริโภคน้ำอัดลมและเครื่องดื่มรสหวานเพิ่มสูงขึ้น

 

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เปิดเผยว่าจากข้อมูลผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพเด็กวัยเรียน เกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มรสหวานในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ของกองสุขศึกษา ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ใน 1 วัน จะมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานเฉลี่ยสูงถึง 86.5 % มีเพียง 13.5 % ที่ดื่มน้ำเปล่าเท่านั้น โดย 38.8 % ของผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน จะดื่มในปริมาณ 1 แก้วต่อวัน (1 แก้วมีขนาด 22 ออนซ์ หรือประมาณ 650 มิลลิลิตร) และมีผู้ดื่มในปริมาณ 2 แก้วขึ้นไป 20.3 % ส่วนประเภทเครื่องดื่มรสหวานที่ดื่มเป็นประจำสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ น้ำอัดลม 40.95 % รองลงมาคือ ชานมไข่มุก 29.16 % และน้ำผลไม้ที่มีรสหวาน 9.34 % ตามลำดับ และส่วนใหญ่มักดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานตามโอกาส 3 ลำดับแรก คือ กินหมูกระทะ ร้อยละ  67.4 รองลงมา งานสังสรรค์ ร้อยละ 67.2 และดูหนังในโรงภาพยนตร์ ร้อยละ 56.4 ตามลำดับ

 

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า เด็กวัยเรียนจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความรู้ความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องสูงสุด 3 เรื่องหลัก คือ ข้อแรกเรื่องของปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภคใน 1 วัน ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา เรื่องที่สอง การดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวาน ทำให้เสี่ยงโรคฟันผุ และเรื่องที่สาม การดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวานทำให้เสี่ยงโรคเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง สำหรับด้านทัศนคติเกี่ยวกับการดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีรสหวานพบว่า โดยส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง ในเรื่องการรับรู้ว่าน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มรสหวานที่ดื่มมีปริมาณน้ำตาลผสมอยู่เท่าใด และเรื่องรู้ว่าตนเองขาดน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มรสหวานไม่ได้

 

ด้านนางสาวมะลิ ไพฑูรย์เนรมิต ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมภายนอก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กวัยเรียน ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือติดหวานมากขึ้น เพราะที่บ้านจะมีเครื่องดื่มรสหวานให้ดื่มได้ตลอด หาซื้อได้ง่าย และทุกครั้งที่ไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ ต้องมีน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวานเสมอ  โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด 19 เด็กส่วนใหญ่ ต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน จะทำให้มีโอกาสดื่มเครื่องดื่มหวานจัดเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เป็นโรคอ้วน ฟันผุ และในอนาคตจะนำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ  เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง    ได้ในที่สุด จึงขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก ได้ร่วมกันรณรงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ ที่ถูกต้องให้กลุ่มเด็กวัยเรียนและเยาวชน ในประเด็นต่อไปนี้

 

(1) ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน และหันมาดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้นอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน น้ำเปล่าจะช่วยป้องกันท้องผูก ช่วยควบคุมน้ำหนัก ช่วยให้ผิวไม่แห้งกร้าน

(2)  อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อหรือดื่มทุกครั้ง เพื่อทราบปริมาณน้ำตาลในน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มรสหวานประเภทต่างๆ

(3) การดื่มน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มรสหวานทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ และทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

 

ทุกครอบครัวควรเอาใจใส่บุตรหลาน และสมาชิกในครอบครัว โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มรสหวาน  ลดการบริโภคอาหารหวานทุกชนิดและไม่ซื้อเครื่องดื่มรสหวานติดบ้าน เพียงเท่านี้ ก็จะทำให้ลูกหลานของเรามีสุขภาพที่ดี แถมยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวอีกด้วย

 

สามารถติดต่อผ่านช่องทางการติดต่อของกองสุขศึกษา ผ่านช่องทาง Facebook และเว็บไซต์กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ htpp://www.hed.go.th