Mitsubishi Electric และ EEC แถลงความสำเร็จและความพร้อมในการที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม 4.0 ในงาน EEC Connecting Thailand and Japan Collaboration Event 2021 “Digital Manufacturing Platform”
Mitsubishi Electric ร่วมกับ EEC และเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมทั้งไทยและญี่ปุ่น จัดแถลงผลงานการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่สามารถขยายผลความร่วมมือเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในเชิงธุรกิจตามแนวทาง Ecosystem สนับสนุนการใช้ระบบ e-F@ctory เพื่อการสร้างสรรค์โซลูชั่น และการเติมเต็มความรู้ของบุคลากร ผ่านความร่วมมือในโครงการ EEC Automation Park ด้วยการเชื่อมโยงกลุ่ม e-F@ctory Alliance ในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อตอบโจทย์ในการพัฒนากระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่จะลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า และเพิ่มทักษะแรงงานเพื่อนำไปสู่ Industry 4.0 อย่างเหมาะสม และคุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีพันธมิตรกว่า 58 บริษัท กระจายครอบคลุมไปในทุกๆ อุตสาหกรรม
ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวโดยสรุปว่า “ความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในการผลักดันการใช้ Automation เพื่อพัฒนา Smart Factory 4.0 ในไทยได้ดำเนินการมาเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะ Mitsubishi Electric ที่ร่วมก่อตั้ง EEC Automation Park ที่มหาวิทยาลัยบูรพาให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระบบ e-F@ctory ซึ่งข้อมูลจากงาน JETRO Manufacturing Digital เมื่อต้นปีได้คาดการณ์ว่า ตลาด IOT & Digital ของโลกภายในปี 2568 จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสัดส่วนจากเมืองอัจฉริยะ 28.6% และจากภาคอุตสาหกรรม 26.4% หรือประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และภาคเอกชนญี่ปุ่นยังประเมินอีกว่า หากนำ IOT & Automation มาใช้จะช่วยให้ลดภาระงานลงกว่า 1,131 ชั่วโมง/เดือน ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจจากสถานการณ์ของ COVID-19 ยังเป็นตัวเร่งสำคัญให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต มีการนำเข้าและลงทุน Robotics & Automation เพิ่มขึ้นมาก การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมและการเพิ่มทักษะแรงงาน Digital Technologies, Automation และ Digital Platforms จึงถือเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทย จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการแข่งขัน (Competitiveness) ในตลาดโลกได้ และเพื่อต่อยอดแนวคิดนี้ให้สำเร็จ จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือเชิงธุรกิจ Ecosystem นำศักยภาพของเครือข่ายมุ่งขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ Robotics & Automation เพื่อให้เกิด Industry 4.0 ขึ้นจริงใน EEC และดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ซึ่ง EEC ได้ตั้งเป้าให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5G, Digital, Smart Factory, Data Center, Cloud Services, Digital Platforms มูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท/ ปี ภายใต้การให้บริการ 5G ในพื้นที่ EEC ที่ครอบคลุมถึง 100% ดังนั้นด้วยการสนับสนุนจากพันธมิตรทุกภาคส่วน ทำให้เราสามารถยืนยันความพร้อมทั้ง Technology, Know-How, Hardware, Software ซึ่งจะเป็น Key Stepping Stone สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใน EEC สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Digital, Robotics, Automation เพื่อปรับตัวเข้าสู่ระบบ Supply chain โลกยุคใหม่”
นอกจากนี้ EEC Automation Park ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้าน Robotics, Automation ผ่านกลไกการขับเคลื่อนโดย EEC-HDC ศูนย์เครือข่าย EEC Net และการส่งเสริมให้มีการรับรองทักษะตามมาตรฐานสากล (Skill Qualification) เพื่อให้มีทักษะและผลิตภาพแรงงาน หรือ Labor Productivity สูงขึ้นด้วยมาตรฐานสากล ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก โดยตั้งเป้าอย่างน้อย 2,000 คน/ ปี หรือ 15,000 คนภายใน 5 ปี
คุณอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO เผยถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐของไทยและภาคเอกชนของญี่ปุ่นว่า “ตามรายงานของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ ยอดขายประจำปีของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ย 13% ต่อปีในช่วง 10 ปีตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2020 แม้ว่าตลาดจะหดตัวในระยะสั้น จากเหตุอันเนื่องมาจากสถานการณ์ COVID-19 แต่ในระยะกลางถึงระยะยาวนั้น วิกฤตครั้งนี้อาจจะกระตุ้นให้คนใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งก็เป็นโอกาสการเติบโตที่ยอดเยี่ยมสำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ทั่วโลกอีกด้วย และย้อนไปในปี 2019 ญี่ปุ่นเป็นตลาดอันดับที่ 2 (รองจากจีน) และไทยเป็นตลาดอันดับหนึ่งในประเทศอาเซียน
ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมาก และบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยก็มีจำนวนมากเช่นกัน แต่ความท้าทายคือการรักษาความสามารถในการแข่งขันเนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าในฐานการผลิตที่สำคัญต่อไปนั้น ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติจะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยลดเวลาในการผลิตและยังตรวจจับความผิดปกติของไลน์ผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
Mitsubishi Electric เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ที่ยาวนานในระบบอัตโนมัติในโรงงาน เช่น หุ่นยนต์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเทคโนโลยีและความรู้ของญี่ปุ่นจะเผยแพร่สู่ประเทศไทยผ่านทาง EEC Automation Park แห่งนี้ ในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศไทย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า EEC Automation Park จะสามารถส่งเสริมและผลักดันเกี่ยวกับการปรับใช้ระบบอัตโนมัติของโรงงานและการเพิ่มผลผลิตในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของทาง JETRO เองได้มีการดำเนินโครงการ “JETRO Robot Automation Project” ในปีที่แล้ว ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากสำนักเลขาธิการ EEC ภายใต้การกำกับดูแลของ ดร.คณิศ โดยเนื้อหาประกอบด้วยการจัดตั้งเว็บไซต์พิเศษ, การสัมมนาออนไลน์ และการประชุมทางธุรกิจ นอกจากนี้ในการฝึกอบรม SI ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการแนะนำหุ่นยนต์อัตโนมัติ ซึ่ง JETRO Bangkok ก็ยังได้เข้าร่วมและสนับสนุนการฝึกอบรมนี้ ผ่านโครงการ “LASI (Lean Automation System Integrators)” ตั้งแต่ปี 2018 โดยมีวิศวกรมากกว่า 900 คนที่ได้เข้าร่วมเรียนในหลักสูตรนี้
ส่วนทางด้านความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและไทยนั้น ก็ได้มีการเปิดตัวโครงการ “LIPE (Lean IoT Plant management & Execution)” ตั้งแต่ปีที่แล้ว และนอกจากนี้ก็ยังมีการสนับสนุนเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยผ่านทางภาครัฐและเอกชน ผ่านความร่วมมือระหว่าง JETRO และ EEC ในด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยไม่ต้องสงสัยเลยว่า EEC Automation Park แห่งนี้จะเป็นฐานสำคัญในอนาคตอย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มหันมาให้ความสนใจและมีความต้องการที่จะใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น โดยมีผลดีในด้านของการประหยัดงบประมาณการจ้างแรงงาน และมีแนวโน้มในการเปลี่ยนไปใช้ระบบดิจิทัลของพื้นที่สำหรับส่วนการผลิตมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย และเราก็คาดว่า EEC Automation Park จะพัฒนาเป็นแกนหลักของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของไทยในอนาคต JETRO จะยังคงสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน และจะยังคงสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย JETRO จะยังคงมีส่วนร่วมในพัฒนา EEC Automation Park แห่งนี้ต่อไป รวมถึงวิศวกรที่รับการอบรมจากที่นี้จะเป็นผู้เสริมสร้างและพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของไทย และในที่สุดอุตสาหกรรมการผลิตของไทย JETRO จะตระหนักถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบ WIN-WIN ระหว่างไทยและญี่ปุ่น”
ดร. อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) ซึ่งรับผิดชอบด้านการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา กล่าวว่า “ความร่วมมือในการผลิตบุคลากรด้านออโตเมชั่นและการพัฒนาการศึกษาด้านออโตเมชั่นนี้ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินงานร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัย ในพื้นที่ EEC และกับมหาวิทยาลัยนอกเขต EEC อีก 20 มหาวิทยาลัย และพัฒนาความร่วมมือกับ 40 วิทยาลัยระดับอาชีวศึกษาในพื้นที่ โดยพุ่งเป้าผลิตบุคลากรด้านออโตเมชั่นตามโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ดิจิทัล โรโบติกส์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ และโลจิสติกส์ ซึ่งในกลุ่มความต้องการบุคลากรกลุ่มนี้มีความต้องการตามแผนการลงทุนใน EEC ใน 5 ปีนี้รวมทั้งสิ้นราว 375,624 คน ซึ่งการพัฒนาบุคลากรด้านออโตเมชั่นนี้ ได้ร่วมมือกับ Mitsubishi Electric และเครือข่ายพันธมิตร ร่วมกันสร้างฐานความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการปรับสร้างศักยภาพบุคลากรด้านนี้ขึ้น ผ่านความร่วมมือกับศูนย์ Automation Park มหาวิทยาลัยบูรพา และศูนย์ปฏิบัติการเรียนด้านออโตเมชั่นในวิทยาลัยระดับอาชีวะทั้งภาครัฐและเอกชนควบคู่กันไป
ความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาในระบบ Automation และ Factory 4.0 โดยรวม ได้สร้างและขยายการเรียนรู้ขึ้นอย่างเบ่งบาน ส่งเสริมการศึกษา การทำงาน ให้เป็นเนื้อเดียวกับการพัฒนาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการระดับต่าง ๆ ในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมใน EEC และกับสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา EEC-HDC ร่วมกับ Mitsubishi Electric และเครือข่ายสถาบันการศึกษาใน EEC ได้ช่วยจัดปรับทิศทางการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรโดยรวมเข้าสู่ทิศทางแบบ Demand Driven และดำเนินการผลิตบุคลากรไปแล้ว รวมทั้งสิ้นกว่า 40,000 คน มีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาบุคลากรในการอบรมระยะสั้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 133 หลักสูตร เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ และกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใน EEC มากกว่า 130 บริษัท ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาต่อยอดพัฒนาบุคลากรและการศึกษาของ EEC-HDC ได้ขยายเครือข่ายผ่านการทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุดมศึกษาฯ กระทรวงศึกษาธิการ และกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใน EEC โดยมีการประสานความร่วมมือใกล้ชิดกับ EEC Industrial Forum (EIF) ข้อสรุปทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าโดยสรุป ที่หยิบยกขึ้นมาแสดงถึงหลักประกันสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ และความก้าวหน้าของความร่วมมือที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการลงทุนใน EEC ที่จะมีบุคลากรที่มีคุณภาพมาตรฐานที่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ และการปรับตัวยกระดับของอุตสาหกรรมเดิมให้เติบโตเท่าทันตามเป้าหมายการพัฒนา และการลงทุนทุกระดับในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC อย่างมี นัยยะสำคัญ”
คุณวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “Mitsubishi Electric Group ได้ก่อตั้งมาแล้วเป็นเวลา 100 ปี และได้เริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ โดยประมาณ 50 ปี ที่ได้ทำให้คนไทยมีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์รูปเพชรสามแฉกมายาวนาน และเข้าใจดีถึงความหมายอันลึกซึ้งด้านคุณภาพและเทคโนโลยีของเรา ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ปรับอากาศ สินค้าระบบอาคารหรือที่เข้าใจกัน คือ ลิฟต์และบันไดเลื่อน อุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบไฟฟ้าและพลังงานมากมาย ซึ่งมีกลุ่มบริษัท Mitsubishi Electric ในประเทศไทยรวมแล้วทั้งหมด 11 บริษัท และได้มีการจัดตั้งโรงงานทั้งใน EEC และนอก EEC ด้วยยอดขายประมาณ 120,000 ล้านบาท มีการสร้างงานให้คนไทยประมาณ 20,000 คน และอีกผลิตภัณฑ์สำคัญที่ทำให้เรามารวมตัวทำความร่วมมือกันในวันนี้ คือ ระบบอัตโนมัติสำหรับโรงงานและอาคาร โดยเราได้เริ่มนำ โซลูชั่น e-F@ctory เข้ามาในเมืองไทยเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ด้วยเชื่อว่า Key Success สำหรับการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เป็นอุตสาหกรรม 4.0 นั้น ประกอบด้วย 3 ฟันเฟืองหลัก ได้แก่ 1. Machine Automation 2. Digital Engineering 3. Human Knowledge แต่การดำเนินงานเพียงลำพังนั้นไปได้ค่อนข้างช้า และไม่ก่อให้เกิดความสำเร็จในวงกว้าง การได้ร่วมงานกับหน่วยงาน EEC-HDC ทำให้เกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคการศึกษา และวันนี้ความร่วมมือนั้นก็ได้สำเร็จลุล่วงไปได้ระดับหนึ่งแล้วที่ EEC Automation Park และการจะต่อยอดความสำเร็จต่อไปในภาคอุตสาหกรรมไทย คือการสร้าง Ecosystem ให้เกิดความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมไทย ที่ช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการสายโรงงาน และสถานศึกษาได้เรียนรู้ ปรึกษาหารือในเทคโนโลยีใหม่ ๆ และจะเป็นก้าวแรกที่มั่นคงสำหรับการนำพาอุตสาหกรรมไทยให้สามารถเข้าสู่การพัฒนา Digital Manufacturing Platform อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงในยุค Digital และยังเป็นแรงเสริมให้กับนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะ EEC ในการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับ 10S Curve บวกอีก 2S Curve สำหรับประเทศไทยต่อไป”
ด้าน ดร. ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ ผู้อำนวยการ EEC Automation Park กล่าวสรุปความคืบหน้าในการดำเนินโครงการในส่วนต่าง ๆ ว่า “EEC Automation Park เป็นศูนย์เครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและบุคลากร ด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และดิจิทัล เพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) โดยเป็นแหล่งรวมเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาและเรียนรู้ระบบสายการผลิตอัตโนมัติแบบดิจิทัล (IIoT) และการใช้เทคโนโลยี 5G อีกทั้งยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความชำนาญให้แก่บุคลากรที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 25 หลักสูตร รวมถึงการให้บริการข้อมูลฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ในรูปแบบ Business Matching โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทในกลุ่มพันธมิตรเพื่อให้เกิดการนำไปใช้พัฒนาอุตสาหกรรมได้จริง รวมถึงบริการด้านการให้คำปรึกษาการปรับปรุงการผลิตแก่ภาคอุตสาหกรรม การจัดหาแหล่งทุน และบริการพื้นที่ Industrial Sandbox เพื่อพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ผ่านความร่วมกับกลุ่มพันธมิตรโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะ Thailand Digital Valley ของทาง DEPA และ EECi/SMC ของทาง NECTEC เพื่อสนับสนุนกิจกรรมกับภาคอุตสาหกรรมในการทดลองก่อนผลิตเชิงพาณิชย์ โดยในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564นี้ จะเปิดให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และรวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจเริ่มเข้ามาเยี่ยมชมได้ โดยหวังว่า EEC Automation Park แห่งนี้จะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าเพื่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของภาครัฐ”
คุณบวร เทียนสวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาโครงการและกลุ่มพันธมิตร กล่าวถึงภาพรวมในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตตามแนวทาง e-F@ctory และหลักการ SMKL – Smart Manufacturing Kaizen Level ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศในรูปแบบ Ecosystem ว่า “Mitsubishi Electric และกลุ่ม e-F@ctory Alliance ได้ร่วมกัน เป็นที่ปรึกษาในการนำโซลูชั่นต่าง ๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน ปัจจุบันมีพันธมิตรเข้าร่วมกลุ่ม e-F@ctory Alliance เพื่อพัฒนาสินค้าและโซลูชั่นกว่า 900 บริษัท มีการนำโซลูชั่นไปใช้จริงแล้วมากกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยนั้นเราริเริ่มโครงการ e-F@ctory Alliance ในปี 2019 โดยในปัจจุบันมีพันธมิตรกว่า 58 บริษัท ครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ของผู้ประกอบการในความต้องการพัฒนากระบวนการผลิต ไปสู่ Industry 4.0 โดยโครงการ e-F@ctory Alliance นั้น เราได้แบ่งกลุ่มพันธมิตรออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ Software Partner, Device Partner และ System Integration Partner เรามีการทำงานร่วมกัน แบ่งปันเทคโนโลยี ความรู้ และพัฒนาโซลูชั่นเพื่อนำเสนอให้กับภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้เรายังมีพันธมิตรส่วนเสริมอื่น ๆ อีก เช่น Education Partners ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับความรู้ความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักตามแนวทางของ e-F@ctory + SMKL (Smart Manufacturing Kaizen Level)”
ปัจจุบัน Mitsubishi Electric ร่วมกับพันธมิตร (e-F@ctory’s alliance) ในการพัฒนาโซลูชั่นต่าง ๆ ซึ่งมีหลายส่วนพร้อมแล้วที่จะให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้งานได้จริง ตัวอย่างเช่น 5G Remote Solution, Automated Mobile Robot (AMR), Automated Storage and Retrieval System (AS/RS) หรือ การเชื่อมต่อระบบ IT กับ OT โดยมี Cyber Security นอกจากนี้ยังมีโรงงานพันธมิตรที่พัฒนาการผลิตตามแนวทาง e-F@ctory และ SMKL (Smart Manufacturing Kaizen Level) โดยปรับใช้โซลูชั่นจากกลุ่มพันธมิตร (e-F@ctory Alliance) ในประเทศไทย อาทิ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามคอมเพรสเซอร์ อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น ซึ่งโรงงานพันธมิตรพร้อมที่จะต้อนรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเข้าเยี่ยมชมโรงงานและแชร์ประสบการณ์ในการนำไปปรับใช้