วันจันทร์, เมษายน 21, 2025
HEALTH

รู้จักลมพิษให้ดีขึ้น

 

รศ.นพ.มติ เชื้อมโนชาญ

หน่วยวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

สวัสดีครับ หมอเชื่อว่า หลายท่านน่าจะรู้จักหรือเคยได้ยินข้อมูลเกี่ยวกับลมพิษกันมาบ้างแล้วนะครับ สำหรับในวันที่ 1 ตุลาคม ของทุก ๆ ปี เป็นวันโรคลมพิษโลก สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จึงต้องการสร้างความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของโรคลมพิษ

 

คนที่เป็นลมพิษส่วนใหญ่จะมีผื่นแดง บวม เป็นจุด หรือปื้นขึ้นตามผิวหนัง บางคนก็อาจจะมีอาการบวมตามเนื้อเยื่ออ่อนต่างๆ เช่น เปลือกตา หรือริมฝีปาก ร่วมด้วยผื่นลมพิษยุบเร็วครับ แต่ละจุดที่ขึ้นเป็นแค่วันเดียวก็หายแล้ว พอผื่นหายไปผิวหนัง บริเวณนั้นก็จะกลับมาเรียบสนิทสีเหมือนเดิมเลยครับ

 

บางคนที่เป็นลมพิษอาจมีอาการรุนแรง เกิดอาการทางปอด, หัวใจ หรือทางเดินอาหาร ทำให้หายใจลำบากจากภาวะหลอดลมตีบ มีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด จากความดันโลหิตต่ำ หรือปวดท้องบิด คลื่นไส้อาเจียนได้ ซึ่งต้องรีบพบแพทย์นะครับ เพราะอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต

 

“โรคลมพิษ มีเพื่อนที่หน้าตาคล้ายๆ กันด้วยนะครับ แต่ไม่ใช่พวกเดียวกัน โดยจะมีอาการแตกต่างจากโรคลมพิษที่เรารู้จัก เช่น ผื่นแต่ละจุดเป็นนานเกิน 1 วันกว่าจะหาย เมื่อหายแล้วผิวหนังบริเวณนั้นเกิดรอยคล้ำมีสีเข้ม หรือมีไข้ ปวดข้อร่วมด้วย ซึ่งหากมีอาการต่างๆเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุต่อไป”

 

รศ.นพ.มติ เชื้อมโนชาญ กล่าวว่า โรคลมพิษนั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ซึ่งแต่ละกลุ่มมีสาเหตุและการดำเนินโรคที่แตกต่างกัน โดย 1. ลมพิษเฉียบพลัน เกิดขึ้นไม่เกิน 6 สัปดาห์ เกิดจากยา อาหาร แมลงสัตว์กัดต่อย หรือการติดเชื้อบางชนิด แต่บางครั้งก็อาจจะไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน ผู้ป่วยลมพิษชนิดเฉียบพลัน มักจะหายภายใน 1-3 สัปดาห์ 2. ลมพิษเรื้อรัง เป็นติดต่อกันนานเกิน 6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายในร่างกายเอง ทำให้เกิดการกระตุ้นเซลล์ที่เป็นสาเหตุของลมพิษได้ง่ายกว่าปกติ มีผู้ป่วยบางส่วนที่อาจเกิดจากกระตุ้นโดยปัจจัยทางกายภาพ เช่น การออกกำลังกาย ความร้อน ความเย็น แสงแดด การขูดถู หรือกดทับ เป็นต้น สำหรับลมพิษชนิดเรื้อรังนั้น ส่วนใหญ่เป็นกันนานหลายเดือน บางคนอาจเป็นนานหลายปี แต่ไม่ต้องเป็นกังวลมาก เพราะลมพิษถ้าไม่เกิดอาการแทรกซ้อน ก็ไม่อันตราย ไม่ได้ส่งผลต่ออวัยวะอื่นๆ แต่อาจรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยบ้าง

 

สำหรับการป้องกันที่ดีที่สุดที่ไม่ให้เป็นลมพิษ คือ หลีกเลี่ยงสาเหตุ หรือปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่นลมพิษครับ ส่วนการรักษานั้น ในปัจจุบันมียาหลายขนานทั้งยารับประทาน และยาฉีดที่มีประสิทธิภาพดี เกิดผลข้างเคียงน้อย ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ถือว่าเป็นยาที่มีความปลอดภัยในการใช้ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว