วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 10, 2024
CSR

ปูนซีเมนต์นครหลวง ชูนวัตกรรม ‘อินทรีเพชร Easy Flow และอินทรีเพชรพลัส’ ตอบโจทย์ลดโลกร้อน ขับเคลื่อนองค์กรบนเส้นทาง Net Zero

 

กลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง เปิดโรดแมปขับเคลื่อนองค์กรสู่เส้นทาง Net Zero ตั้งเป้าลดผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1 ชูนวัตกรรม “อินทรีเพชร Easy Flow และ อินทรีเพชรพลัส” ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกคุณภาพสูงพร้อมตอกย้ำความยั่งยืน “ธุรกิจ-สิ่งแวดล้อม-ชุมชน” ผลักดันใช้งานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2567 เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไทย

 

นายมนตรี นิธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจปูนซีเมนต์ของประเทศไทย ภายใต้ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ ปูนอินทรี เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทฯ มุ่งขับเคลื่อนสู่ Net Zero โดยเน้นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนใน 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจ สิ่งแวดล้อม และชุมชน ภายใต้แนวคิดของการพัฒนาเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับองค์กร พันธมิตร และชุมชน เพื่อความมีส่วนร่วมที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

 

กลุ่มบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นลดสัดส่วนปูนเม็ดในซีเมนต์จากร้อยละ 74 ในปี 2563 ลงเหลือร้อยละ 65 ในปี 2573 ตามแนวทางของ กลุ่มซีเมนต์เทคโนโลยี องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ที่ตั้งเป้าลดสัดส่วนปูนเม็ดในซีเมนต์ลงเป็นร้อยละ 64 ในปี 2573 โดยมีตัวแปรสำคัญอยู่ที่การลดสัดส่วนของปูนเม็ดในผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์และการใช้พลังงานทางเลือก ในปี 2565 ทั้งกลุ่มบริษัทสามารถลดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิอยู่ที่ 607 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อตันซีเมนต์ คิดเป็นอัตราการลดที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563

 

ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงได้นำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผลิตภัณฑ์ และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวม ทั้งยังเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายแรกในไทยที่ขับเคลื่อนตลาดเปลี่ยนจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1 เป็นปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในรูปแบบถุง 100% ตั้งแต่ปี 2561 โดยมี “อินทรีเพชรพลัส” ปูนซีเมนต์คุณภาพสูง สำหรับโครงการก่อสร้างและโรงหล่อชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปขนาดเล็ก อาทิ การหล่อบล็อก หล่อท่อ หล่อเสา คาน พื้น ส่วน “ปูนซีเมนต์อินทรีเพชร Easy Flow” สามารถใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1 สำหรับงานโครงสร้างคอนกรีตทั่วไปและโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ เช่น งานอาคารสูง ถนน สะพาน และอุโมงค์ ซึ่งในกระบวนการผลิตของปูนซีเมนต์ทั้งสองสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสภาพอากาศที่ดีในระยะยาว

 

นายเซเรอฟิน บูเจยา รองประธานอาวุโส สายงานกิจการสระบุรี บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ขยายโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปูนซีเมนต์ด้วยการแยกบดหินปูน (Separate Material Grinding process) โดยกระบวนการบดหินปูนแบบแยกส่วนนี้จะช่วยทำให้สามารถลดคาร์บอนในขั้นตอนการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มประสิทธิผลจากการนำวัตถุดิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับทางสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย หรือ TCMA ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการลดการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ลงแล้วหันมาผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2567 เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนี้ ทางกลุ่มบริษัทฯ ได้มีการเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์อินทรีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กลุ่มผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์อินทรี จำนวน 11 รายการ ได้รับการเผยแพร่ฉลากสิ่งแวดล้อม EPD (Environment Product Declaration) ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 (ISO14025) จาก The International EPD® System ซึ่งเป็นฉลากระบุส่วนผสมผลิตภัณฑ์ รวมถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นตลอดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของ Product Category Rules (PCR) และกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในระดับเวทีโลก โดย Global Cement and Concrete Association (GCCA)

 

จากแนวทางที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง กลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ และผลิตปูนซีเมนต์คุณภาพสูงที่ตอบโจทย์ทั้งการใช้งาน ยกระดับการดำเนินธุรกิจที่เติบโตไปพร้อมกับลูกค้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน